เลือกหน้า

เหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ หรือรัฐอาระกันของเมียนมา ระหว่างมุสลิมโรฮิงญากับชาวพุทธ รวมทั้งกับกำลังทหารกองทัพเมียนมา ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ แต่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วซ้ำๆ กันแทบทุกปี

rohang

ปัญหาสำคัญมาจากอคติชาติพันธุ์ที่ “คนพม่า” ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสหภาพเมียนมา ไม่ยอมรับโรฮิงญาเป็นพลเมือง แม้แต่ในรัฐธรรมนูญของเมียนมาก็ไม่ได้ให้การรับรอง

สาเหตุสำคัญเป็นเพราะ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ในอดีตที่สั่งสมมาตั้งแต่ยุคโบราณ สู่ยุคล่าอาณานิคม ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งถึงยุคดิจิทัลอย่างปัจจุบัน

“ชาวโรฮิงญา” คือชนพื้นเมืองดั้งเดิมของแคว้นโรฮัง ซึ่งเป็นชื่อเก่าแก่ของรัฐอาระกัน อดีตเคยเป็นรัฐเอกราช แต่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพเมียนมา

รัฐอาระกัน หรือ “ยะไข่” ตั้งอยู่บริเวณอ่าวเบงกอล ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา มีพรมแดนติดกับประเทศบังคลาเทศ ชาวโรฮิงญาใช้ภาษาเบงกาลี-จิตตะกอง นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่

ในบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคล่าอาณานิคม อังกฤษได้เข้ายึดครองอินเดีย และพยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาในพม่า มีการอพยพคนอินเดียและคนพื้นเมืองจากดินแดนที่เป็นประเทศบังคลาเทศในปัจจุบัน เข้ามาตั้งรกรากในรัฐอาระกัน จนเกิดความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษเข้ามาติดอาวุธให้กองกำลังมุสลิมทางตอนเหนือของรัฐอาระกัน ซึ่งก็คือโรฮิงญา เพื่อสกัดการรุกคืบของญี่ปุ่น กระทั่งเกิดปะทะกันกับกองกำลังชาวยะไข่พื้นเมือง จนความขัดแย้งเพิ่มสูงขึ้น

รัฐอาระกันตกเป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างสมบูรณ์เมื่อปีพุทธศักราช 2505 เมื่อ “นายพลเนวิน” ทำรัฐประหารและประกาศยกเลิก “รัฐปกครองตนเองอาระกัน” นับตั้งแต่นั้นมาดินแดนแห่งนี้ก็ลุกเป็นไฟ เพราะชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธความเป็น“พลเมืองพม่า” เนื่องจากพม่ารับรองเฉพาะชาวอาระกันที่เป็นพุทธ ทำให้พวกโรฮิงญาต้องกลายเป็นคนไร้รัฐ

ประมาณการณ์กันว่าเคยมีประชากรชาวโรฮิงญาราว 3 ล้าน 5 แสนคนในรัฐยะไข่ แต่ปัจจุบันน่าจะเหลือไม่ถึงครึ่ง เนื่องจากตกเป็นเหยื่อทารุณกรรม ข่มขืน ถูกบังคับเป็นแรงงานทาส เรียกเก็บภาษีตามอำเภอใจ บ้านเรือนถูกทำลาย รวมทั้งผลักดันให้พ้นเขตแดน กระทั่งต้องอพยพหลบหนีจากแผ่นดินเกิด ทั้งข้ามไปบังคลาเทศ และล่องเรือเข้าน่านน้ำไทยเพื่อผ่านไปยังประเทศที่สาม

เส้นทางอพยพของของชาวโรฮิงญามีอยู่ 3 ลักษณะ คือ

  หนึ่ง จากชายแดนจังหวัดค๊อกซีสบาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ อ้อมหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย มุ่งหน้าไปทางเกาะนิโคบา ใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ส่วนมากเป็นเรือขนาดใหญ่ และเดินทางต่อไปทางทิศตะวันออก เข้าน่านน้ำไทยที่จังหวัดระนอง พังงา

สอง จากชายแดนอำเภอมองดอ จังหวัดซิตตะเว ในรัฐยะไข่ ผ่านน่านน้ำเมียนมาภาคอิรวดี เกาะโกโก้ รัฐมอญ ภาคตะนาวศรี เข้าเขตน่านน้ำไทยด้านจังหวัดระนอง

      สาม ทางบก จากรัฐยะไข่ ล่องใต้ผ่านเขตอิทธิพลของกะเหรี่ยง เข้าสู่ประเทศไทยทาง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บางส่วนพำนักทำงานในพื้นที่ใกล้เคียง บางส่วนเคลื่อนลงภาคใต้
ทั้งสามเส้นทางมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิม ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกแปลกแยก และมีงานรองรับชาวโรฮิงญา

แต่ในระยะหลังสถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเก่า เพราะมีขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะขบวนการในประเทศไทย ส่งเรือขึ้นไปรับชาวโรฮิงญา เพื่อส่งไปขายแรงงานต่อยังมาเลเซีย และประเทศที่สาม

  ศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนเครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ บอกว่า ผลจากสถานการณ์ความรุนแรงล่าสุดขณะนี้ มีข่าวว่าชาวโรฮิงญาเริ่มอพยพออกมาแล้ว แต่มีจำนวนไม่มาก ถ้าเทียบกับเหตุการณ์ในปี ค.ศ.2012 โดยปัจจัยหนึ่งของการอพยพ นอกจากความรุนแรงในเมียนมา ยังมีขบวนการนำพาจากประเทศไทยไปรับตัวชาวโรฮิงญามาทางเรือจากรัฐยะไข่มายังประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ด้วย โดยเรือที่ไปรับไม่ใช่เรือของชาวโรฮิงญา หรือของเมียนมา แต่เป็นเรือของไทย รูปแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 – 2014 ทำให้จำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นหลายหมื่นคนต่อปี

ปัจจุบันมีความสำเร็จจากกระบวนการปราบปรามของไทยพอสมควร ทำให้มีโรฮิงญาออกมาจำนวนน้อยมาก แต่ก็ยังมีข่าวว่ามีเรือขนาดเล็กจุได้ไม่เกิน 90 คน พาคนออกมาแล้ว และพยายามไม่ขึ้นฝั่งไทย แต่ไปมาเลเซียโดยตรง จึงเป็นแค่การเดินทางผิดกฎหมายแบบปกติมากกว่า แต่เชื่อว่าในระยะต่อไปจะมีแนวโน้มชาวโรฮิงญาอพยพออกจากรัฐยะไข่มากขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้

ตัวแทนเครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวด้วยว่า เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาหนักมาก รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหัวข้อ “การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย” โดยเชิญตัวแทนรัฐบาลทุกประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และมีผลประชุมออกมา 2-3 เรื่อง เช่น การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งทุกประเทศก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการลงทุนในส่วนนี้ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นกลไกการทำงาน และยังไม่มีกลไกฉุกเฉินว่าเมื่อชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งที่ประเทศใด ใครจะลงมาดูแลอย่างชัดเจน

ขณะที่การจัดตั้งจุดขึ้นฝั่งฉุกเฉิน ทุกประเทศทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ผลักดันคนเหล่านี้ออกไป สุดท้ายมีข้อตกลงว่าจะต้องจัดตั้งจุด แต่ขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนเปิดพื้นที่ให้เป็นจุดขึ้นฝั่งเลย ที่สำคัญคือ กลไกที่จะกดดันให้เมียนมายุติการใช้ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ยังไม่เกิดขึ้น การประชุมอาเซียนเองก็ยังไม่สามารถหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดได้ คิดว่านี่คือความล้มเหลว เรื่องนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก

ชะตากรรม ณ วันนี้ของชาวโรฮิงญา นอกจากเป็น “คนไร้รัฐ” แล้ว ยังกลายเป็น “เหยื่อค้ามนุษย์” ด้วย…

สุสานชาวโรฮิงญาบนเขาแก้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ถูกขุดพบเมื่อปีที่แล้ว คงอธิบายได้เป็นอย่างดีว่าพวกเขาคือ “ชาติพันธุ์ที่ถูกสาป” อย่างแท้จริง

 

บรรยายภาพ : ภาพชะตากรรมของชาวโรฮิงญาที่ส่งต่อกันทางโซเชียลมีเดีย

ที่มา :https://www.isranews.org