คดีความมั่นคงอีกคดีหนึ่งที่ศาลเพิ่งมีคำพิพากษา คือ คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบแผนก่อวินาศกรรมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อปลายปี 59 จนนำไปสู่ปฏิบัติการตรวจค้นและกวาดจับผู้ต้องสงสัยครั้งใหญ่หลายสิบคน ในจำนวนนั้นถูกฟ้องต่อศาล 14 คน สุดท้ายศาลสั่งลงโทษจำคุกจำเลยบางส่วน
ข่าวการเตรียมก่อวินาศกรรมกรุงเทพฯ เกิดขึ้นช่วงต้นเดือน ต.ค.ปี 59 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ เอซีดี ช่วงนั้นมีข่าวผู้ก่อความไม่สงบจากจังหวัดชายแดนใต้มีแผนวางระเบิดคาร์บอมบ์ตามห้างสรรพสินค้าและย่านธุรกิจกลางกรุงเทพฯ รวมทั้งพื้นที่ปริมณฑล ตำรวจจึงกระจายกำลังกันออกตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัย เช่น บ้านเช่าย่านรามคำแหง และแฟลตการเคหะที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ผลการตรวจค้น เจ้าหน้าที่อ้างว่าพบสารเคมีประกอบระเบิด และอุปกรณ์ประกอบระเบิด ทั้งที่ซุกอยู่ในห้อง และถูกนำไปทิ้งตามสถานที่ต่างๆ จึงขยายผลจับกุมผู้เกี่ยวข้องได้ 14 คน และฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล
รายชื่อ 14 จำเลยประกอบด้วย นายตาลมีซี หรือซี โตะตาหยง จำเลยที่ 1, นายอับดุลบาซิร หรือบาซิร ลือกะจิก จำเลยที่ 2, นายมูบารีห์ หรือบาริ กะนา จำเลยที่ 3, นายอุสมาน หรือมาย กาเด็งหะยี จำเลยที่ 4, นายมีซี หรือยี เจ๊ะหา จำเลยที่ 5, นายปฐมพร หรือดาวุด มิหิแอ จำเลยที่ 6, นายอัมรัม หรือยัง มะยี จำเลยที่ 7, นายวิรัติ หรือ กามาน หะมิ จำเลยที่ 8, นายนิเฮง หรือเฮง ยีนิง จำเลยที่ 9, นายอัมรีย์ หะ จำเลยที่ 10, นายนรมัน อาบู จำเลยที่ 11, นายมุฟตาอิน สาและ จำเลยที่ 12, นายวนฮาฟิต ดือมุงกาป๊ะ จำเลยที่ 13 และ นายมูฮัมหมัดซาการียา ตามุง จำเลยที่ 14
ทั้งหมดถูกฟ้องด้วยข้อหาฉกรรจ์ ทั้งอั้งยี่ ซ่องโจร ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และวัตถุระเบิด แต่คดีนี้มีบางฝ่าย เช่น นักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนภาคประชาสังคมบางกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้มองว่าเป็นการจับกุมโดยไม่มีหลักฐาน มีการสร้างกระแสว่าการตรวจค้นห้องพักของคนเหล่านี้ เจ้าหน้าที่พบแค่อุปกรณ์ทำน้ำบูดู จึงกลายเป็นเรื่องล้อเลียนกันในโซเชียลมีเดียว่า ตำรวจจับ “ทีมบูดูบอมบ์” ไม่ใช่ “คาร์บอมบ์”
คดีนี้อัยการยื่นฟ้องว่า จำเลยทั้งหมดเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี ประชุมวางแผนขยายพื้นที่การก่อการร้ายเข้ามาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร และก่อการร้าย ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแม้จำเลยทั้งหมดจะให้การปฏิเสธ และโจทก์คืออัยการไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ เพราะการทำงานของขบวนการลักษณะนี้มักจะปกปิดข้อมูลการติดต่อระหว่างกันอยู่แล้ว แต่จากการตรวจสอบสารประกอบวัตถุระเบิดที่พบในมือของจำเลยบางคน ประกอบกับคำเบิกความของเจ้าหน้าที่อีโอดี (หน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดของตำรวจ) ยืนยันว่าสารประกอบระเบิดชนิดนี้ไม่สามารถพบได้ทั่วไป และการเดินผ่านก็ไม่ทำให้สารติดตัวไปได้ ผู้ที่มีสารประกอบระเบิดติดตามร่างกาย จึงต้องเกี่ยวพันกับวัตถุระเบิดเท่านั้น
ขณะเดียวกัน จำเลยยังได้นำชี้ที่สถานที่พักในซอยรามคำแหงซอย 49 และซอย 53/1 กับห้องพักที่ได้ไปเช่าที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งแม้จำเลยจะต่อสู้ว่า ในชั้นสอบสวนถูกพนักงานสอบสวนข่มขู่บังคับ แต่ไม่ปรากฏร่องรอยการถูกทำร้าย และไม่มีการร้องเรียนกล่าวโทษพนักงานสอบสวน จึงถือเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
ศาลจึงเชื่อได้ว่าจำเลยครอบครองสารประกอบระเบิดจริง พิพากษาจำคุกจำเลย 9 คนจาก 14 คน คนละ 6 ปี ยกเว้นจำเลยที่ 3 คือ นายมูบารีห์ กะนา ซึ่งพบสารประกอบระเบิดตามร่างกาย พิพากษาจำคุก 9 ปี แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลย 9 คนยกเว้นจำเลยที่ 3 คนละ 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 คือ นายมูบารีห์ เหลือจำคุก 5 ปี ขณะที่อีก 5 คนยกฟ้อง
สรุปโทษจำคุกของจำเลยทั้ง 14 คน คือ นายตาลมีซี จำเลยที่ 1 จำคุก 4 ปี,นายอับดุลบาซิร จำเลยที่ 2 จำคุก 4 ปี, นายมูบารีห์ จำเลยที่ 3 จำคุก 6 ปี, นายอุสมาน จำเลยที่ 4 จำคุก 4 ปี, นายมีซี จำเลยที่ 5 ยกฟ้อง, นายปฐมพร จำเลยที่ 6 ยกฟ้อง, นายอัมรัม จำเลยที่ 7 ยกฟ้อง, นายวิรัติ จำเลยที่ 8 ยกฟ้อง, นายนิเฮง จำเลยที่ 9 จำคุก 4 ปี, นายอัมรีย์ จำเลยที่ 10 จำคุก 4 ปี, นายนรมัน จำเลยที่ 11 จำคุก 4 ปี, นายมุฟตาอิน จำเลยที่ 12 จำคุก 4 ปี, นายวนฮาฟิต จำเลยที่ 13 จำคุก 4 ปี และ นายมูฮัมหมัดซาการียา จำเลยที่ 14 ยกฟ้อง
นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความของจำเลย กล่าวว่า ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษา และจะยื่นอุทธรณ์แน่นอน เพราะยังมีประเด็นที่จะต้องต่อสู้คดีต่อไป โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลรับฟังคำซักถามตามอำนาจของกฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) เพราะมีการคุมตัวผู้ต้องสงสัยจากในพื้นที่ชายแดนใต้ นำตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถาม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ายังไม่จำเป็นต้องมีทนายความ เนื่องจากยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหา แต่เมื่อคดีถึงศาล ก็มักจะเป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่รับฟังคำซักถามของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ทั้งที่โดยหลักประมวลกฎหมายอาญาระบุว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม (เช่น มีทนายทันที ต้องได้สิทธิ์ยื่นประกันตัว สิทธิ์ในการที่จะให้การหรือไม่ให้การในชั้นสอบสวนก็ได้)
สำหรับท่าทีของจำเลยทั้งหมดตั้งแต่ก่อนและหลังฟังคำพิพากษา ทนายกิจจา บอกว่า ญาติไปเยี่ยมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จำเลยก็เป็นปกติดี บางคนบอกว่าไม่ได้คิดอะไร
———————————————————————————————————-
บรรยายภาพ :
1 โลโก้ศาลอาญา จากเว็บไซต์ศาลอาญา
2 ภาพการล้อเลียนเรื่อง “บูดูบอมบ์” ในโซเชียลมีเดีย หลังมีการจับกุมจำเลยกลุ่มนี้เมื่อปี 59
3 การทำงานของตำรวจขณะค้นห้องพักของจำเลย
……………………………………………………………………………………………………………………………
ที่มา / https://www.isranews.org/south-news/other-news/69782-boodoo-69782.html